ความรู้คู่ความก้าวหน้า
 
IP address ตอนที่ 5 - Subnet Mask คืออะไร ทำไมมี IP ต้องมี Subnet Mask? (Subnet Mask แบบพื้นฐาน)

จาก IP address ตอนที่ 4 ผมได้ทิ้งท้ายคำถามไว้สองคำถาม ซึ่งในตอนที่ 5 นี้ผมจะขอกล่าวถึง เฉพาะเรื่อง ซับเน็ตมาส์ค (Subnet Mask) ก่อนนะครับ

ผมขอให้พวกเราลองมาดูคำถามเกี่ยวกับ Subnet Mask กันไว้ก่อน และเก็บมันไว้ในใจก่อนนะครับ โดยผมจะค่อยๆ เฉลยมันออกมาทั้งหมด

"Subnet Mask คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร แล้วทำไมเวลาพูดถึง IP address จะต้องพูดถึง Subnet Mask ควบคู่กันทุกครั้งไป แล้ว IP address ไปสัมพันธ์กับเจ้า Subnet Mask อย่างไร??????????"

ก่อนที่เราจะไปเฉลยคำถามเหล่านั้น ผมขอให้เรารู้จักหน้าตาของ Subnet Mask กันก่อนนะครับ

โครงสร้างของ Subnet Mask
Subnet Mask มีต้นกำเนิดมาจากเลขฐานสอง (0 หรือ 1) เช่นเดียวกับ IP address ครับ โดย Subnet Mask จะเป็นเลขฐานสองที่มีขนาดทั้งหมด 32 bit และแบ่งออกเป็น 4 ชุด ชุดละ 8 bit โดยแต่่ละชุดจะถูกคั่นด้วยจุด

(อ๊ะ อ๊ะ!!! เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งด่วนสรุปครับว่า Subnet Mask เหมือน IP address นะครับ ลองติดตามต่อไปนะครับ)

ลักษณะเด่นของ Subnet Mask
Subnet Mask จะเป็นเลขฐานสองที่มีขนาด 32 bit โดยเลขฐานสองทั้ง 32 bit นี้จะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา ซึ่งทั้งฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวาสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
- เลขฐานสองทุก bit ที่อยู่ฝ่ายซ้าย จะต้องมีค่าเป็น 1 เสมอ (จะมี 0 มาแทรกไม่ได้เด็ดขาด)
- เลขฐานสองทุก bit ที่อยู่ฝ่ายขวา จะต้องมีค่าเป็น 0 เสมอ (จะมี 1 มาแทรกไม่ได้เด็ดขาด)
หมายเหตุ เลขฐานสอง 1 ตัว เราเรียก 1 bit

ตัวอย่าง เช่น


เกิดคำถามต่อมาว่า
"แล้วเราจะเริ่มแบ่งฝ่ายจากตรงจุดไหนล่ะ หรือเริ่มแบ่งจาก bit ที่เท่าไหร่ล่ะ มีกฏเกณฑ์อะไรมาเป็นตัวบอก หรือตัดสินใจ" อันนี้ขอติดไว้ก่อนนะครับ คำเฉลยจะอยู่ตอนท้ายๆ ของบทความครับ

ดังนั้นเมื่อแปลง Subnet Mask จากตัวอย่างข้างบน จากเลขฐานสองกลายเป็นเลขฐานสิบ จะได้ผลการแปลงออกมาดังภาพข้างล่างครับ



หมายเหตุ สำหรับวิธีการแปลงจากเลขฐานสองเป็นเลขฐานสิบทำอย่างไร ขอให้ไปดู IP address ตอนที่ 4 นะครับ

Subnet Mask แตกต่างจาก IP address อย่างไร
จากที่กล่าวมาในตอนต้นๆ จะเห็นได้ว่า Subnet Mask กับ IP address มีโครงสร้างที่เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ

- IP address ที่เป็นเลขฐานสอง ทั้ง 32 bit ตำแหน่งไหนจะเป็น 0 หรือตำแหน่งไหนจะเป็น 1 ก็ได้ ไม่มีกฏเกณฑ์ในการแบ่งว่า 1 ต้องเรียงกัน หรือ 0 ต้องเรียงกันเหมือนอย่าง Subnet Mask
- Subnet Mask ที่เป็นเลขฐานสอง ทั้ง 32 bit จะต้องเริ่มต้นกำหนดก่อนว่าจะเริ่มแบ่งฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวาที่จุดใด (กฏเกณฑ์ในการแบ่งฝ่ายว่าจะเริ่มที่จุดใด ลองอ่านไปเรื่อยๆ จะเข้าใจเองครับ) โดย bit ทั้งหมดที่อยู่ฝ่ายซ้ายจะต้องเป็น 1 ทั้งหมดทุก bit จะมี 0 มาแทรกไม่ได้เด็ดขาด และ bit ทั้งหมดที่เป็นฝ่ายขวาจะต้องเป็น 0 ทั้งหมดทุก bit จะมี 1 มาแทรกไม่ได้เด็ดขาด

กลับมาคำถามที่ผมตั้งให้ไว้ในตอนต้นที่ว่า
"Subnet Mask คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร แล้วทำไมเวลาพูดถึง IP address จะต้องพูดถึง Subnet Mask ควบคู่กันทุกครั้งไป แล้ว IP address ไปสัมพันธ์กับเจ้า Subnet Mask อย่างไร??????????"

ก่อนที่จะอธิบายว่า Subnet Mask คืออะไรนั้น ก็ยังมีคำถามที่เราควรสนใจอีกคำถามหนึ่ง นั่นก็คือ 
"เราจะรู้ได้อย่างไรว่า IP address เบอร์นี้มี bit อยู่กี่ bit ที่เป็นตัวแทนในส่วนของ Network ID และจะรู้ได้อย่างไรว่ามี bit อยู่กี่ bit ที่เป็นตัวแทนในส่วนของ Host ID?"

Subnet Mask คืออะไร?
Subnet Mask คือตัวที่จะช่วยทำให้เราสามารถระบุได้ว่า IP address เบอร์นั้นๆ มี bit ไหนบ้างที่เป็น Network ID และมี bit ไหนบ้างที่เป็น Host ID

Subnet Mask จะถูกสร้างขึ้นมา โดยการวาง binary 1 (bit ที่เป็น 1) ไว้ในแต่ละตำแหน่งของ bit ที่เป็นตัวแทนในส่วนของ Network และ วาง binary 0 (bit ที่เป็น 0) ไว้ในแต่ละตำแหน่งของ bit ที่เป็นตัวแทนในส่วนของ Host

เช่น ต้องการจะบอกว่า IP address 10.1.2.3 มี 8 bit แรก (10) เป็น network และ 24 bit หลัง (.1.2.3) เป็น host  เราสามารถบอกได้ด้วยการสร้าง หรือด้วยการระบุที่ Subnet Mask เป็น 11111111 . 00000000 . 00000000 . 00000000

หมายเหตุ IP address ทุกๆ เบอร์ จะต้องถูกกำหนด Network ID และ Host ID เสมอ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง IP address ทีไร จึงต้องกล่าวถึง Subnet Mask ด้วยทุกครั้งไป

"สิ่งที่กำลังจะอธิบายต่อไปนี้ จะเป็นความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับการคำนวณแบบเลขฐานสอง เรียกว่า AND logic ซึ่งหากท่านผู้อ่านไม่เคยรู้จักมาก่อน ผมจะพยายามอธิบายง่ายๆ นะครับ คือ ให้มองการ AND เลขฐานสอง เหมือนการคูณครับ"

หลักการคือ
IP address AND Subnet Mask = Network ID

ซึ่งการนำ IP address มา AND กับ Subnet Mask นั้น หากจะคำนวณด้วยมือแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องแปลง IP address และ Subnet Mask ให้เป็นเลขฐานสองเสียก่อนครับ แล้วจึงค่อยนำค่าทั้งสองมา AND กัน

หมายเหตุ การ AND กันของเลขฐานสองก็คล้ายการคูณกันครับ
0 AND 0 = 0
0 AND 1 = 0
1 AND 0 = 0
1 AND 1 = 1

สำหรับในบทความนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจเรื่อง Subnet Mask ขั้นพื้นฐาน และเพื่อให้เข้าใจถึงหน้าที่ของ Subnet Mask ผมจะขอกล่าวถึง หรือยกตัวอย่างเฉพาะรูปแบบหลักๆ ของ Subnet Mask ซึ่งมีด้วยกัน 3 รูปแบบหลักๆ ดังรูปข้างล่างครับ



หมายเหตุ รูปแบบของ Subnet Mask จริงๆ แล้วมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ แต่ก็ยังคงยึดหลักเดียวกันคือ แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายซ้ายต้องเป็น 1 ทุก bit และฝ่ายขวาจะต้องเป็น 0 ทุก bit ครับ ซึ่งรูปแบบที่เหลือ ผมจะขอกล่าวในบทความอื่น ครับ

ตัวอย่างของการคำนวณหา Network ID โดยการนำ IP address มา AND กับ Subnet Mask ดังรูปข้างล่างครับ

ตัวอย่างที่ 1

จากรูปข้างบน เราสามารถสรุปได้ว่า เมื่อเรานำ IP address 10.100.31.9 มา AND กับ Subnet Mask 255.0.0.0 แล้ว เราจะได้ Network ID = 10.0.0.0

Network ID = 10
Host = .0.0.0 (.0.0.0 เป็นตัวแทนของ Host ID ใดๆ ภายใต้ network 10.0.0.0
Host ID ที่เป็นไปได้ภายใต้ network 10.0.0.0 คือ 10.0.0.1 ถึง 10.255.255.254

ดังนั้นเราจะสามารถแยกแยะได้แล้วว่า IP address 10.100.31.9 ที่มี Subnet Mask 255.0.0.0 จะมีองค์ประกอบดังนี้ คือ
Network ID10.0.0.0 และมี Host ID = 0.100.31.9


ตัวอย่างที่ 2

จากรูปข้างบน เราสามารถสรุปได้ว่า เมื่อเรานำ IP address 172.16.7.41 มา AND กับ Subnet Mask 255.255.0.0 แล้ว เราจะได้ Network ID = 172.16.0.0

Network ID = 172.16
Host = .0.0 (.0.0 เป็นตัวแทนของ Host ID ใดๆ ภายใต้ network 172.16.0.0
Host ID ที่เป็นไปได้ภายใต้ network 172.16.0.0 คือ 172.16.0.1 ถึง 172.16.255.254

ดังนั้นเราจะสามารถแยกแยะได้แล้วว่า IP address 172.16.7.41 ที่มี Subnet Mask 255.255.0.0 จะมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

Network ID 172.16.0.0 และมี Host ID 0.0.7.41


ตัวอย่างที่ 3

จากรูปข้างบน เราสามารถสรุปได้ว่า เมื่อเรานำ IP address 192.168.89.11 มา AND กับ Subnet Mask 255.255.255.0 แล้ว เราจะได้ Network ID = 192.168.89.0

Network ID = 192.168.89
Host = .0 (.0 เป็นตัวแทนของ Host ID ใดๆ ภายใต้ network 192.168.89.0
Host ID ที่เป็นไปได้ภายใต้ network 192.168.89.0 คือ 192.168.89.1 ถึง 192.168.89.254


ดังนั้นเราจะสามารถแยกแยะได้แล้วว่า
IP address 192.168.89.11 ที่มี Subnet Mask 255.255.255.0 จะมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

Network ID 192.168.89.0 และมี Host ID 0.0.0.11


จากตัวอย่างทั้งสามดังรูปข้างบน เราคงจะเห็นแล้วว่า Subnet Mask มีไว้เพื่ออะไร ดังนั้นถ้าขาดซึ่ง Subnet Mask แล้ว เราจะไม่สามารถบอกได้เลยว่า IP address เบอร์นั้น มี Network ID คืออะไร

เพิ่มเติมอีกนิดกับ Subnet Mask V.S. /Prefix Length
หลายๆ ท่านอาจจะเคยเจอ IP address แล้วตามด้วย /8 หรือ /16 หรือ /24 แล้วเกิดคำถามว่า "เจ้า /8, /16 และ /24 มันคืออะไรหนอ?"

ให้ท่านลองอ่านบทความข้างล่างดูนะครับ ซึ่งน่าจะพอให้คำตอบกับท่านได้

เลขที่ตามหลังเครื่องหมาย / (อ่านว่า slash) เราเรียกว่า Prefix Length โดย /8, /16 และ /24 มีที่มาจาก

/8 คือมี 1 เรียงติดกัน 8 bit (8 ตัว) นั่นคือ
/8 = 11111111.00000000.00000000.00000000 = 255.0.0.0

ตัวอย่างเช่น
IP address = 10.31.19.11 , Subnet Mask = 255.0.0.0
สามารถเขียนได้ใหม่เป็น 10.31.19.11/8
ซึ่ง /8 เป็นการบอกกับเราว่า "8 bit แรกทางซ้ายมือของ IP address 10.31.19.11 เป็น bit ของ network address"
ดังนั้น Network ID (ผลการ AND ระหว่าง IP address กับ Subnet Mask) = 10.0.0.0
ซึ่งจะทำให้ส่วนที่เหลืออีก 24 bit ทางขวามือของ IP address 10.31.19.11 เป็นส่วนของ Host ID
ดังนั้น Host ID = 0.31.19.11

/16 คือมี 1 เรียงติดกัน 16 bit (16 ตัว) นั่นคือ
/16 = 11111111.11111111.00000000.00000000 = 255.255.0.0

ตัวอย่างเช่น
IP address = 172.16.87.99 , Subnet Mask = 255.255.0.0
สามารถเขียนได้ใหม่เป็น 172.16.87.99/16
ซึ่ง /16 เป็นการบอกกับเราว่า "16 bit แรกทางซ้ายมือของ IP address 172.16.87.99 เป็น bit ของ network address"
ดังนั้น Network ID (ผลการ AND ระหว่าง IP address กับ Subnet Mask) = 172.16.0.0
ซึ่งจะทำให้ส่วนที่เหลืออีก 16 bit ทางขวามือของ IP address 172.16.87.99 เป็นส่วนของ Host ID

ดังนั้น Host ID = 0.0.87.99


/24 คือมี 1 เรียงติดกัน 24 bit (24 ตัว) นั่นคือ
/24 = 11111111.11111111.11111111.00000000 = 255.255.255.0

ตัวอย่างเช่น
IP address = 192.168.82.103 , Subnet Mask = 255.255.255.0
สามารถเขียนได้ใหม่เป็น 192.168.82.103/24
ซึ่ง /24 เป็นการบอกกับเราว่า "24 bit แรกทางซ้ายมือของ IP address 192.168.82.103 เป็น bit ของ network address"
ดังนั้น Network ID (ผลการ AND ระหว่าง IP address กับ Subnet Mask) = 192.168.82.0
ซึ่งจะทำให้ส่วนที่เหลืออีก 8 bit ทางขวามือของ IP address 192.168.82.103 เป็นส่วนของ Host ID

ดังนั้น Host ID = 0.0.0.103


สรุป Subnet Mask และ Prefix Length



Prefix กับ Prefix Length คืออะไร
Prefix แปลว่า คำนำหน้า
ดังนั้น Prefix ใน IP address ก็คือ Subnet หรือ Network ID นั่นเอง

ส่วน Prefix Length แปลว่า ความยาวของคำนำหน้า
ดังนั้น Prefix Length ใน IP address ก็คือ ความยาวของจำนวน bit ที่เป็นส่วนหน้าของ IP address  [นับจาก bit ซ้ายสุดของ IP address ไล่มาทางขวาเรื่อยๆ จนเท่ากับตัวเลขที่อยู่หลังเครื่องหมาย / (อ่านว่า slash)] ซึ่งก็หมายถึงจำนวน bit ของ Network ID นั่นเอง

ตัวอย่าง:
192.168.1.55/24
Prefix = 192.168.1   (24 bit แรก หรือ 24 bit หน้า)
Prefix Length = /24 หรือ 255.255.255.0 เพื่อบอกให้ทราบว่า 24 bit แรกของ IP address เป็น Network ID

เราจะใช้ /Prefix Length แทน Subnet Mask เมื่อไหร่ และมันมีประโยชน์อย่างไร?
แน่นอนครับ จากที่ผมแจ้งไว้บนๆ ว่า "เมื่อเราพูดถึง IP address เรามักจะต้องอ้างอิงถึง Subnet Mask ด้วยทุกครั้งไป เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบว่า IP address เบอร์นั้นๆ มี Network ID เป็นอะไร" และเราก็ทราบมาอีกอย่างหนึ่งว่า Subnet Mask สามารถเขียนแทนได้ด้วย /Prefix Length

ส่วนการที่จะกล่าวถึงประโยน์ของการใช้ Prefix Length แทน Subnet Mask นั้น ผมขอตอบจากประสบการณ์นะครับ คือจากประการณ์ของผม ผมจะใช้ /Prefix Length ด้วยเงื่อนไขอยู่สองข้อดังนี้ครับ
1. การเขียน Subnet Mask เต็มรูปแบบค่อนข้างจะเขียนยาว ดังนั้นในบางครั้งผมจะใช้ /Prefix Length แทน
2. เวลาวาดรูป IP Network (Network Diagram) แล้วต้องมีการระบุ Subnet Mask ลงไปในรูป Network Diagram ผมจะระบุหรือเขียนลงไป ในรูปแบบของ /Perfix เพราะประหยัดพื้นที่ในหน้ากระดาษ ไม่ทำให้ Network Diagram เลอะเทอะไปด้วยตัวอักษรที่มากเกินความจำเป็นครับ

สรุปคำนิยามของ Subnet Mask อีกทีหนึ่ง
Subnet Mask จะถูกสร้างขึ้นมา โดยการวาง binary 1 (bit ที่เป็น 1) ไว้ในแต่ละตำแหน่งของ bit ที่เป็นตัวแทนในส่วนของ Network และ วาง binary 0 (bit ที่เป็น 0) ไว้ในแต่ละตำแหน่งของ bit ที่เป็นตัวแทนในส่วนของ Host

การนำ Subnet Mask ไปใช้ประโยชน์บน Host ต้นทาง เพื่อตรวจสอบว่า Destination IP address ของ Host ปลายทางอยู่ใน Network ID (Subnet ID) เดียวกันกับมันหรือไม่ และการนำไปใช้ในการตัดสินใจว่าจะต้องมีการ setup Gateway บน Host หรือไม่ ท่านสามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดได้ตาม link ข้างล่างนี้ครับ

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=likecisco&date=03-11-2014&group=3&gblog=23


ส่วนคำถามที่ว่า IP address เบอร์อะไร ควรจะจับคู่กับ Subnet Mask เบอร์อะไรนั้น ท่านสามารถไปติดตามได้ใน IP address ตอนที่ 6 - ลึกอีกนิดกับ Class ของ IP และ loopback address (127.0.0.1/localhost) นะครับ

สำหรับ Subnet Mask หรือ /Prefix Length ผมขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ


ขอบคุณครับ
โก้-ชัยวัฒน์ (kochaiwat)



Create Date : 09 สิงหาคม 2554
Last Update : 20 มกราคม 2559 0:23:48 น. 67 comments
Counter : 118945 Pageviews.  
 
 
 
 
อธิบายดีมากเลย ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ
 
 

โดย: ekapon IP: 124.121.183.136 วันที่: 4 ตุลาคม 2554 เวลา:1:50:42 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากครับ อย่างนี้มีกำลังใจเขียนอีกเยอะเลยครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 6 ตุลาคม 2554 เวลา:2:06:19 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากครับพี่ ถ้าไม่ได้พี่ผมทำข้อสอบพรุ่งนี้ไม่ได้แน่ๆๆ ขอบคุณครับบบ
 
 

โดย: พี่หลวงนัท IP: 202.28.64.1 วันที่: 28 ธันวาคม 2554 เวลา:1:16:02 น.  

 
 
 
พี่คับ ถ้าให้ดี พี่ช่วยอธิบายเกี่ยวกับ การแบ่ง class,deflault mask,network id,การหาค่าhostแบบง่ายๆ จะดีมากๆเลยครับ
 
 

โดย: พี่หลวงนัท IP: 202.28.64.1 วันที่: 28 ธันวาคม 2554 เวลา:1:19:06 น.  

 
 
 
@คุณพี่หลวงนัท
จริงๆ ที่ถามมา พี่เขียนไว้แล้วครับ ส่วน default mask ก็มีแค่ 3 ตัวคือ /8, /16 และ /24 นั่นเองครับ ซึ่งมันจะเป็น mask หลักๆ ตาม class และเมื่อนำไป and กับ ip address เราจะได้ network id ที่เราเรียกว่า major network ครับ

ส่วนที่ผมยังติดค้างกันอยู่ก็คือเรื่องการแบ่ง Major network เป็น subnet (sub-network) ซึ่งยังคงมีความตั้งใจจะเขียนอยู่นะครับ แต่หยุดงานเขียนไปก่อนเพราะมีงานสอนเข้ามาตลอด รวมถึงความกังวลเรื่องสอบ re-certification ครับ ดังนั้น หากเขียนบทความโดยมความกังวล เกรงว่าจะเขียนออกมาไม่ดี เลยขอหยุดก่อน และเมื่อจิตใจพร้อม จะกลับมาเขียนงานเขียนที่มีคุณภาพเพิ่มเติมครับ จะมีก็แต่งานเขียนแบบเล็กๆ น้อยๆ ในหัวข้อเกร็ดความรู้ ซึ่งหัวข้อนี้จะเป็น deep technical (Cisco) และเป็น special สำหรับคนที่ทำงานด้าน network ครับ

ยังไง ผมต้องขอขอบคุณมากครับ แค่มีคนมาอ่านแล้วเป็นประโยชน์ ผมก็รู้สึกดีมากๆ แล้วครับ

โก้-ชัยวัฒน์
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 28 ธันวาคม 2554 เวลา:9:36:05 น.  

 
 
 
เป็นกำลังใจให้ครับ
 
 

โดย: กุ๊กกรู๋ IP: 27.130.34.25 วันที่: 12 มกราคม 2555 เวลา:2:50:51 น.  

 
 
 
อ่าพวก /mark มาก็เยอะแต่ก็คำนวนแล้วงงๆ

มาเกตก็ตรงนี้ละครับ
เข้าใจง่าย คำนวนเร็ว
ขอบคุณครับ
 
 

โดย: arm rider IP: 172.20.26.72, 203.144.130.176 วันที่: 31 มกราคม 2555 เวลา:11:06:29 น.  

 
 
 
@คุณ arm
/mask ที่ผมเขียนตอนนี้ยังเป็นแค่เบื้องต้น คือจะเป็น /mask แบบหลักๆ ตาม class คือ /8 , /16 และ /24 เท่านั้นนะครับ ยังไม่ลงลึกถึง /9, /10 .. /15 และ /17, /18 .. /23 และ /25, /26 ... /32 ครับ ผมกำลังเคลียร์งานตัวเองอยู่ เลยยังไม่ว่างเขียนเพิ่ม ยังไงอ่านบทความของผมให้เข้าใจก่อน แล้วหาอ่านเพิ่มจากที่อื่นอีกทีนะครับ แต่ถ้าผมว่าง ก็จะเขียนเพิ่มให้ครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:12:49:29 น.  

 
 
 
ขอบคุณบทความดีๆครับ ผมอ่านหนังสือสอบเรื่องนี้พอดี ไม่เข้าใจ มาอ่านของพี่แจ่มแจ้งเลยครับ ขอบคุณมากครับ
 
 

โดย: เด็กฝึกหัด IP: 192.168.176.70, 183.88.251.218 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:6:17:52 น.  

 
 
 
@น้อง เด็กฝึกหัด
ขอบคุณมากๆ ครับ รู้สึกปลื้มมากครับ หลังจาก clear ตัวเองได้แล้ว จะรีบเขียนต่อครับ หยุดมาพักนึงแล้วครับ แต่หลังวันที่ 09/03/2012 นี้ก็พอมีเวลาแล้ว จะพยายามสร้างสรรผลงานเพื่อพี่น้องครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:9:58:57 น.  

 
 
 
อธิบายซะผมบรรลุเลย ขอบคุณมากครับ
 
 

โดย: Mc IP: 14.207.145.86 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:15:15:43 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากค่ะะะะะะะ
 
 

โดย: แป้ง IP: 110.49.234.37 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:0:11:32 น.  

 
 
 
เปะปะหาเรื่อง subnet อ่าน จนมาเจอบล็อกคุณครับ
เรียบเรียงได้ดีมากครับ ขอบคุณนะครับ
 
 

โดย: ดาวสุริยะ IP: 182.53.23.75 วันที่: 17 มีนาคม 2555 เวลา:14:30:44 น.  

 
 
 
@ทุกท่าน ขอบคุณมากสำหรับคำชมครับ หลังจาก Re-Cert แล้ว กะว่าจะมา update Blog สักหน่อย แต่ช่วงนี้สุขภาพไม่ค่อยดี ผลจากความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างเตรียมสอบ และเครียดเรื่องงาน จนอาการความดันสูงกลับมาอีกครั้ง (แหะๆ หาหมอแล้ว หมอบอกว่าส่วนหนึ่งมาจากอายุเยอะแล้ว และมาเครียดอีก เฮ้อ!)
ช่วงนี้กำลังพักฟื้นตัวเอง (พยายามไม่เครียด) เลยต้องหยุดงานเขียนครับ คือมันต้องใช้พลังเยอะเหมือนกัน และอาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้ เลยขอพักสักระยะนะครับ เฮ้อ!
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 18 มีนาคม 2555 เวลา:21:41:39 น.  

 
 
 
แอบเข้ามาอ่าน blog ของพี่โก้หลายครั้งแล้วครับ แล้วแอบเก็บไว้เป็น hard copy ด้วยครับ เอาไว้อ่านเวลาเดินทางไปต่างจังหวัดอ่ะครับ หวังว่า พี่โก้ คงไม่ว่าอะไรนะครับ

วันนี้แวะเข้ามาอ่านอีก อ่านยังไงก็ไม่เบื่อ เพราะอ่านแล้วมันเห็นภาพได้ง่าย ถึงบ้างอ้อได้เร็ว

แต่มาเห็นกระทู้ตอบคำถามของพี่โก้แล้วรู้สึกเป็นห่วงครับ
เลยเข้ามาให้กำลังใจด้วย
ยังไงแล้วขอให้พี่โก้ หายไวไวนะครับ จะได้มา update ผลงานให้ทุกๆคนได้อ่านอีกครับ

พี่โก้หายเมื่อไหร่ ไม่แน่ ผมอาจติดต่อเพื่อไปเรียน เบสิคกับพี่ด้วยครับ แต่ต้องขอเวลาเก็บเงินก่อน หุหุ
 
 

โดย: jjwint IP: 125.25.39.132 วันที่: 21 มีนาคม 2555 เวลา:2:20:59 น.  

 
 
 
@น้อง JJwint ขอบคุณมากๆ ครับ ซึ้งมากๆ ครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 21 มีนาคม 2555 เวลา:14:49:55 น.  

 
 
 
งงมานานมากคับ

แต่คุณทำให้ผมเข้าใจเลย ในส่วนนี้

แต่อยากทราบว่า Subnet Mark กับ Subnet มันตัวเดียวกันหรือป่าวครับ

ช่วยขี้แนะผมหน่อย ขอบคุณมากครับ
 
 

โดย: ฺBird IP: 58.8.96.13 วันที่: 30 พฤษภาคม 2555 เวลา:16:59:33 น.  

 
 
 
@คุณ ฺBird,
Subnet และ Subnet Mask มีความหมายต่างกันดังนี้ครับ

Subnet จริงๆ แล้วก็คือ Network ID ซึ่งจากเนื้อหาข้างบนจะพบ Subnet Mask และ Network ID สัมพันธ์กันดังนี้ครับ

IP address AND Subnet Mask = Network ID

แล้ว Subnet กับ Network ID เหมือนกันอย่างไร?
จริงๆ แล้ว จากบทความ IP address ตอนที่ 1 - 6 จะเน้นพื้นฐานของ IP ครับ โดยจะสอนลักษณะอิงเป็น Class (Class A - C) ซึ่ง Network ID ก็จะเป็น Network หลักๆ หรือที่เราเรียกกันว่า Major Network (เรียกง่ายๆ ก็ Network แม่ นั่นเอง) แต่จริงๆ แล้ว Network แม่ หรือ Major Network สามารถถูกนำมาแบ่งเป็น Network ID ลูก หรือ Network ID ย่อยๆ ได้อีกครับ ซึ่ง Network ID ย่อยๆ ในศัพท์เทคนิคทาง IP เราเีรียกว่า Subnet นั่นเอง (ขออนุญาติไม่กล่าวในรายละเอียดส่วนนี้นะครับ ซึ่งจริงๆ แล้วพยายามหาเวลาเขียนเรื่อง Network ID ลูก อยู่ครับ)

สำหรับ Subnet Mask คือ ตัวที่จะมาช่วยบอกเราว่า IP address เบอร์นั้น อยู่ใน Network ID หรือ Subnet หรือ Network ID ย่อย อะไร นั่นเอง

(ย่อๆ นะครับ)
ถ้าลึกๆ กว่านั้น กล่าวแบบย่อๆ คือ Mask แปลว่า หน้ากาก ซึ่ง Subnet Mask จะเรียงด้วย 1 ทางด้านซ้าย และตามด้วย 0 ทางด้านขวา่ เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า

ถ้า Subnet Mask นำไปคู่กับ IP address เบอร์อะไร นั่นเป็นการบอกว่า
- bit ใดของ IP address ตรงกับ bit ที่เป็น 1 ของ Subnet Mask นั่นหมายความว่า bit นั้นของ IP address เป็น bit ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ Network ID
- bit ใดของ IP address ตรงกับ bit ที่เป็น 0 ของ Subnet Mask นั่นหมายความว่า bit นั้นของ IP address เป็น bit ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ Host ID

เช่น 10.2.3.4 255.255.255.0
10 . 2 . 3 . 4
IP: 00001010 . 00000010 . 00000011 . 00000100
SM: 11111111 . 11111111 . 11111111 . 00000000
NW: 00001010 . 00000010 . 00000011 . _______
H: ________ . ________ . ________ . 00000100

IP = IP address ของ Computer
SM = Subnet Mask ที่กำหนดคู่กับ IP address ของ Computer
NW = Network ID หรือคนส่วนใหญ่เรียกเหมาไปเลยว่า Subnet ซึ่งก็คือ Network ID หรือ Subnet ที่ IP address เบอร์นั้นๆ (Computer เครื่องนั้น) เป็นสมาชิกอยู่
H = Host ID หมายถึง IP address เบอร์นี้ (Computer เครื่องนี้) มี Host ID เบอร์อะไร สำหรับ Network ID นั้นๆ (คล้ายๆ กับ บ้านเลขที่เบอร์อะไร ในจังหวัดนั้นๆ เป็นต้น)

หวังว่าจะทำให้เข้าใจมากขึ้นนะครับ

โก้
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 31 พฤษภาคม 2555 เวลา:10:47:31 น.  

 
 
 
@ คุณโก้

ขอบคุณมาก ๆ เลยครับ

ขอถามเพราะความสงสัยอีกสักข้อนะครับ

จำเป็นไหมที่ Subnet Mark ต้องเป็น 255.255.255.0

(ผมหมายถึงว่า มันสามารถเป็น 199.254.211.0 ได้หรือป่าวอะครับ )

ขอบคุณครับ
 
 

โดย: ฺBird IP: 61.90.11.200 วันที่: 31 พฤษภาคม 2555 เวลา:11:30:59 น.  

 
 
 
@ คุณ Bird,
Subnet Mask จะมี format หรือรูปแบบของมันดังนี้ครับ

1. ต้องเป็นเลขฐานสองทั้งหมด 32 bit (คือเป็น 0 หรือ 1 รวมกัน 32 ตัว)
2. ใน 32 bit จะต้องแบ่งเป็น 1 เรียงกันด้านซ้าย (ห้ามมี 0 แทรก) และ 0 เรียงกันด้านขวา (ห้ามมี 1 แทรก) โดย 1 จะมีกี่ bit ก็ได้ และ 0 จะมีกี่ bit ก็ได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 32 bit ครับ

เมื่อนำ Subnet Mask ที่อยู่ในรูปฐานสองมาแปลงเป็นฐานสิบ จะมีรูปแบบที่เป็นไปได้ดังนี้ครับ

Class A:
255.0.0.0
255.128.0.0
255.192.0.0
255.224.0.0
255.240.0.0
255.248.0.0
255.252.0.0
255.254.0.0

Class B:
255.255.0.0
255.255.128.0
255.255.192.0
255.255.224.0
255.255.240.0
255.255.248.0
255.255.252.0
255.255.254.0

Class C:
255.255.255.0
255.255.255.128
255.255.255.192
255.255.255.224
255.255.255.240
255.255.255.248
255.255.255.252
255.255.255.254

สำหรับ Subnet Mask พิเศษ จะมี 2 ตัวดังนี้ครับ
- 255.255.255.255 หมายถึงเฉพาะ IP address เบอร์นั้นเบอร์เดียว เท่านั้น
- 0.0.0.0 หมายถึง ตัวแทนของ Subnet Mask อะไรก็ได้ ซึ่่งเราจะพบบ่อยๆ ในหัวข้อ Default Route

สำหรับรายละเอียดของ Subnet Mask แบบพิเศษทั้งสอง (บะหมี่สองก้อน เอ็ะ!!! อันนี้ไม่เกี่ยวนะครับ) ผมขอกล่าวแค่นี้นะครับ

ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ รูปแบบของ Subnet Mask ที่เป็นไปได้ทั้งหมด ที่คุณจะสามารถพบได้บนโลกใบนี้ครับ และจะไม่พบ Subnet Mask แบบอื่นๅ แน่นอนครับ เพราะเลขเหล่านี้ใช้หลักการที่ผมแจ้งไปแล้วครับ คือ พอแปลงจากเลขฐานสองเป็นฐานสิบ จะมีรูปแบบที่เป็นไปได้อยู่เพียงแค่นี้เท่านั้นครับ
โก้
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 1 มิถุนายน 2555 เวลา:11:19:32 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากคร้าบ เข้าใจแล้วครับว่าprefixมาจากไหน งงอยู่นานxD
 
 

โดย: โก้ IP: 27.130.144.53 วันที่: 17 กันยายน 2555 เวลา:3:04:03 น.  

 
 
 
อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นเยอะเลยครับ มีประโยชน์มากจริงๆ ผมงงอยู่นานมาก ว่า subnet mask คือไร พอได้อ่านบล็อกคุณแล้วถึงเข้าใจ ขอบคุณนะครับ
 
 

โดย: Lenna IP: 1.1.226.104 วันที่: 30 มีนาคม 2556 เวลา:21:15:22 น.  

 
 
 
@ทุกท่าน
ยินดีครับ และขอบคุณเช่นกันครับ

อย่างไรก็ตาม อีกประมาณซัก 5-10 ปี เราคงหนี IPv6 ไม่พ้นครับ

Vesion ที่ผมเขียนตอนนี้เป็น IPv4 ซึ่งใช้งานอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีแนวโน้มจะต้องหันไปใช้ IPv6 กันในอนาคตนะครับ

โก้-ชัยวัฒน์
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 30 มีนาคม 2556 เวลา:23:21:38 น.  

 
 
 
จะรอติดตามนะครับ ขอบคุณสำหรับความรู้ดีดีนะครับ ไม่ว่าจะเขียนไว้นานแค่ไหน ก็เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง ขอแสดงความนับถือด้วยใจจริงครับ...
 
 

โดย: Lenna IP: 1.1.231.222 วันที่: 24 พฤษภาคม 2556 เวลา:4:48:01 น.  

 
 
 
@ คุณ Lenna และทุกท่าน
ขอบคุณมากครับ และขอน้อมรับสำหรับคำชมต่างๆ ด้วยความรู้สึกที่ปลื้มครั

ผมอยากจะเขียนต่อใจมากๆ แต่ตอนนี้รับภาระอันยิ่งใหญ่ คือเป็นอาจารย์ หรือ instructor เต็มตัวที่ศูนย์ Training ที่หนึ่ง (Train เกี่ยวกับ Certificate ของ Cisco) และต้องสอนหลายวิชา ทั้งที่ถนัด และไม่ถนัด ดังนั้น เพื่อให้งานสอนที่รับผิดชอบออกมาดี มีประโยชน์กับคนเรียนจริงๆ จึงต้องทุ่มเทกับงานสอนที่รับผิดชอบอยู่ จึงต้องหยุดงานเขียนสักระยะนครับ แต่ถ้างานสอนเริ่มนิ่ง จะกลับมา update งานเขียนนะครับ
โก้-ชัยวัฒน์
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 24 พฤษภาคม 2556 เวลา:11:16:31 น.  

 
 
 
ขอบคุณงานเขียนของ พี่โก้ มากเลยครับทำให้ผมรู้ที่ไปที่มาของ ip address ว่ามาจากไหนทำไมต้องเป็น 192.168 .1.1 อะไรพวกนี้ และ subnet mask มีไว้เพื่ออะไร ทำไมมันถึงขึ้นต้นด้วย 255.255.255.0 หรือ และทำให้รู้ที่ไปที่มาของ network id อีก และทำให้วันนี้ผมมั่นใจในการสอบสัมภาษณ์งานกับบริษัท network แห่งหนึ่งที่ผมอยากเข้าไปทำงานด้วยมากเลยครับ ขอบคุณพี่โก้ ไว้ ณ โอกาศนี้ด้วยครับ
 
 

โดย: kenggood IP: 171.99.191.159 วันที่: 9 กรกฎาคม 2556 เวลา:10:19:15 น.  

 
 
 
@คุณ kenggood,
ยินดีอย่างมากครับ และขอให้ได้งานตามที่คาดหวังนะครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่วงการ IT ครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 10 กรกฎาคม 2556 เวลา:21:59:26 น.  

 
 
 
ขอบคุณครับ พี่โก้ @kochaiwat
วันนี้ผมได้งานที่ผมไปสัมภาษณ์วันนั้นแล้วครับ หากมีโอกาศผมจะได้ไปเรียนเพิ่มเติมกับพี่นะครับ ในการสอบ CCNA ขั้นแรก
ด้วยความนับถือครับ
 
 

โดย: kenggood IP: 58.8.102.17 วันที่: 16 กรกฎาคม 2556 เวลา:10:07:32 น.  

 
 
 
@ น้อง kenggood,
ยินดีด้วยนะครับ แต่แหะๆ เรื่องเรียนกับพี่ ตอนนี้พี่ต้องพักงานส่วนตัวอ่ะครับ คือทาง Training Center ที่พี่สังกัดอยู่ตอนนี้ไม่อนุญาติให้พี่สอนส่วนตัว (ถึงอยากสอนก็คงลำบากเพราะต้องพักการใช้เสียงในวันเสาร์อาทิตย์)
อย่างไรก็แล้วแต่ ความรู้จะหาได้ 2 ทางครับ
1. เรียน - ซึ่งเราจะได้ผลึกความคิดมาจากคนสอน แต่ก็ต้องอ่านเพิ่ม แต่ก็จะทำให้อ่านง่ายขึ้น เพราะเราเข้าใจ concept แล้ว
2. อ่านเองล้วนๆ - อันนี้แนะนำว่าต้องอดทนนะครับ และจำไว้ว่าอ่านรอบแรกแล้วไม่เข้าใจ อย่าท้อครับ เป็นเรื่องปกติ แล้วให้ลองกลับมาอ่านรอบสองใหม่ รับรองครับ จะอ่านง่ายขึ้น

แต่ถึงจะอ่านแค่ไหน ก็ไม่เท่ากับลงมือทำจริงมั๊ยครับ
- งานเข้า ให้พุ่งชนครับ เด๋วก็เก่งครับ
- ไม่มีงานเข้า หา GNS3 มาเล่น เพื่อทดสอบทฤษฎีว่าเราเข้าใจถูกหรือไม่

สู้ๆ นะครับ เส้นทางนี้มีอะไรให้ตื่นตาตื่นใจมากมายครับ

ยินดีต้อนรับครับ

พี่โก้
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 16 กรกฎาคม 2556 เวลา:10:52:48 น.  

 
 
 
@พี่โก้
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ
ตอนนี้ก็อ่านหนังสือรอเริ่มงานอย่างเดียวเลยครับ อ่านในเวลางานที่เดิมอยู่ด้วยเลยไม่ค่อยสดวก 55
รอบแรกอ่านลำบากอย่างที่พี่บอกเลย แต่ก้จะสู้ไม่ถอยครับ

ขอบคุณครับ
 
 

โดย: kenggood IP: 58.8.110.150 วันที่: 17 กรกฎาคม 2556 เวลา:10:27:17 น.  

 
 
 
ขอบคุณ อย่างยิ่ง สำหรับการสละความรู้ เวลา มาเขียนอธิบาย สิ่งต่างๆ ด้วยภาษาที่ง่าย ต่อการทำความเข้าใจ
ยอดเยี่ยมมากครับ จะติดตามผลงานต่อไปครับ
 
 

โดย: pruetikul IP: 117.89.123.117 วันที่: 20 กรกฎาคม 2556 เวลา:17:09:24 น.  

 
 
 
@ คุณ Pruetikul และทุกท่าน
ขอบคุณมากมายเช่นกันครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 22 กรกฎาคม 2556 เวลา:19:26:07 น.  

 
 
 
ผมเรียนเรื่องนี้ตั้งแต่ สิบปีที่แล้ว และในตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจ
จนถึงตอนนี้ ที่มาอ่านบล๊อกคุณ ผมเข้าใจอะไรได้เยอะทีเดียว
ไม่นึกเลยว่าสิบปีที่ผมงง ผมจะเข้าใจ เมื่อผมได้อ่านบลอกคุณ
ผมจบมหาลัยดังของรัฐใน กทม สิบปีมานี้เงินเดือนผม สูงสุด แสนสองนะครับ แต่เรื่องน่าอายที่สุดคื่อเรื่องเน็ทเวิค ไอพีแอดเดรส นี้แหละครับ วันนี้ต้องขอบคุณ คุณมากเลยครับ
อยากจะร้องให้ มองย้อนไปทำงานม่ั่ว เอาตัวรอดมาได้เพราะภาษาอังกฤษดีครับ เลยได้เงินเดือนเยอะหน่อย วันนี้ปมในใจเริ่มกระจ่างแล้วครับ ขอบคุณครับท่านอาจารย์
 
 

โดย: ดีดี IP: 115.67.163.133 วันที่: 5 สิงหาคม 2556 เวลา:13:24:18 น.  

 
 
 
@คุณ ดีดี,
ผมเป็นปลื้มครับสำหรับคำชม แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้ไม่ว่างจริงๆ เลยไม่ได้เขียนการแบ่ง subnet ระดับย่อยจาก class ลงมา สักวันผมคงได้มีโอกาสมาเขี้ยนเพิ่มครับ

ตอนนี้สองอารมณ์ครับ ทั้งดีใจที่บทความมีประโยชน์กับหลายๆ ท่าน

ท้้งเสียใจที่ยังไม่มีโอกาสมาเขียนเพิ่ม ผมเข้าใจดีว่าหลายๆ ท่านรอติดตามอยู่ .... แต่..... ผมคงต้องพางานหลักตอนนี้ไปให้รอดก่อนครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 5 สิงหาคม 2556 เวลา:17:16:42 น.  

 
 
 
อธิบายดีมากเลยค่า กำลังเรียนเรื่องนี้พอดี

ขอบคุณนะคะ ^^
 
 

โดย: เฟิร์น IP: 115.67.167.39 วันที่: 25 กันยายน 2556 เวลา:15:40:11 น.  

 
 
 
@พี่โก้และพี่ๆทุกท่าน ครับ
รบกวนสอบถามหน่อยนะครับ
พอดีทีบริษัที่ผมทำงานอยู่ตอนนี้มีวง Net Work 2 วง คือ
192.168.0.1 / 255.255.255.0
192.168.1.1 / 255.255.254.0
แล้วผมต้องการเลขไอทีอีกประมาณ 500 ตัวครับ
ผมรบกวนถามว่า ผมต้องตั้ง IP และ Sub ยังไงครับ
รบกวนด้วยนะครับ
 
 

โดย: Monkey IP: 101.109.246.34 วันที่: 2 กรกฎาคม 2557 เวลา:13:46:07 น.  

 
 
 
@ น้อง Monkey
พี่รบกวนน้องช่วย confirm ว่า 192.168.1.1 / 255.255.254.0 ถูกต้องแล้วใช่ไหมครับ หรือว่าเป็น 192.168.1.1 / 255.255.255.0 ครับ

เบื้องต้น พี่ขอสันนิษฐานว่าน้องใช้ /24 (255.255.255.0) ละกันนะครับ

เอาล่ะ ถ้าน้องจะใช้ subnet mask สำหรับ Host 500 เครื่อง (IP 500 เบอร์) น้องควรจะใช้ network ID ที่ต่อจากสองชุดแรก คือ
192.168.2.0/23 (/23 = 255.255.254.0)
(IP address ที่สามารถใช้ได้คือ
192.168.2.1/23 - 192.168.3.254/23 ครับ)
/23 หรือ 255.255.254.0 จะสามารถรองรับ IP address ได้ถึง 510 IP address (512-2 = 510) ครับ

ไม่รู้ว่าตอบตรงคำถามหรือเปล่านะครับ

พี่โก้
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 3 กรกฎาคม 2557 เวลา:17:32:42 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากครับ
เขียนละเอียด เข้าใจมากเลย
 
 

โดย: WaratC IP: 161.200.119.64 วันที่: 6 สิงหาคม 2557 เวลา:16:00:16 น.  

 
 
 
เยี่ยมครับ
 
 

โดย: sophon IP: 116.58.248.174 วันที่: 16 กันยายน 2557 เวลา:15:39:32 น.  

 
 
 
สอบถามครับ ถ้าเราเปิด subnet mask เยอะๆจะมีผลเสียอย่างไรมากครับ นอกจากเรื่อง broadcasting ที่เยอะ (ทำให้ระบบหน่วง)

ขอบคุณครับ
 
 

โดย: ZCERO_VIRUS IP: 180.183.118.79 วันที่: 16 ตุลาคม 2557 เวลา:8:04:17 น.  

 
 
 
@K. ZCERO_VIRUS,
การที่เราแบ่ง subnet ก็เพื่อที่จะย่อย broadcast domain ให้เล็กลง ดังนั้นถ้า broadcast domain ใหญ่มาก แล้วเราไม่แบ่ง subnet รับรองได้เลยว่า performance ของ system ทั้งหมดที่อยู่ใน broadcast domain ที่ใหญ่นี้ อืด แน่นอน ดังนั้นการแบ่ง subnet ย่อมจะมีข้อดีกว่าไม่แบ่ง subnet ครับ แต่การแบ่งเยอะๆ แล้วทำให้ระบบหน่วง มันก็คงจะเป็นเรื่องของการ run routing น่ะครับ และถ้า subnet เยอะๆ การ run routing ก็จะต้อง run เยอะ ถ้าจะเกิดการหน่วง ก็น่าจะเกิดจาก เราใช้ router รุ่นเล็ก มา run บน network ขนาดใหญ่ที่มี subnet ที่เยอะแยะน่ะครับ และที่สำคัญ มันก็อาจจะเป็นเพราะเราไป run routing protocol ที่กิน resource อย่างเช่น OSPF กับ EIGRP บน router รุ่นเล็ก มันก็จะทำให้หน่วงได้นะครับ

หวังว่าคำตอบนี้จะช่วยได้บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ
โก้-ชัยวัฒน์
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 17 ตุลาคม 2557 เวลา:23:27:28 น.  

 
 
 
Good explain I do undrestand well good experienced
 
 

โดย: visaker THAVYTHAM IP: 157.7.205.214 วันที่: 23 ตุลาคม 2557 เวลา:11:00:33 น.  

 
 
 
Dear please give me some important cpmmands of CCNA , make a list how to use in Thai Language
 
 

โดย: visaker THAVYTHAM IP: 157.7.205.214 วันที่: 23 ตุลาคม 2557 เวลา:11:04:02 น.  

 
 
 
please give me ome command of CCNA with how to use in THAI language
 
 

โดย: visaker THAVYTHAM IP: 157.7.205.214 วันที่: 23 ตุลาคม 2557 เวลา:11:05:46 น.  

 
 
 
Dear visaker THAVYTHAM,
As your request "some important commands of CCNA , make a list how to use in Thai Language", I believe that you are Thai people in the Japan country (refer to your IP address). I am very sorry for your request because I have never concluded those command.

However, you can see my VDO in Thai Language as follow:

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=likecisco&group=8

I think this can help you because it has the sound and picture.

Thank you very much in your interesting,

KoChaiwat
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 24 ตุลาคม 2557 เวลา:10:04:53 น.  

 
 
 
เนื้อหาหน้าติดตาม เขียนแล้วอ่านเข้าใจได้ง่ายมากครับ ขอบคุณครับ
ขอเป็นกำลังใจให้ครับ
 
 

โดย: TTIT IP: 171.96.144.14 วันที่: 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา:10:02:00 น.  

 
 
 
สอนแบบนี้อย่าสอนเลยครับ สอนคนที่เข้าใจอยู๋แล้วไม่มีประโยชน์ ผมเข้าใจในสิ่งที่คุณพยายามอธิบาย แต่เข้าใจยาก เหมือน1+1=2 ทุกคนรู้แต่2มันมาได้ยังไงละ ถ้าไม่สอนว่า เอา1ไว้ในใจ แล้วมี1อีกตัว คือคำตอบเป็น2 ตอนนี้อาจจะดูง่าย แต่นึกถึงตอนเด็กๆที่ไม่รู้สิ ผมเห็นหลายคนละ การสอนโดบการอ่านให้ฟัง เห็นแล้วงง จริงๆ ครั บไม่ได้ จะตำนิ อะไรแค่แสดงความเห็นเฉยๆ หากไม่พอใจ ต้องขออภัยในที่นี้ด้วยครับ
 
 

โดย: devejo IP: 58.10.179.219 วันที่: 14 ธันวาคม 2557 เวลา:3:28:25 น.  

 
 
 
@คุณ devejo,
ขอบคุณสำหรับคำชี้แนะครับ สำหรับบทความที่ผมเขียนนั้น มันมาจากความคิดที่ว่า "ผู้อ่านนั้นมีหลากหลาย มีทั้งคนที่รู้ และไม่รู้ คนที่มีพื้นฐานดี และไม่ดี" ดังนั้นบทความนี้จึงพยายามเขียนเพื่อนคนที่ไม่รู้ และมีไม่พื้นฐานครับ ผมเข้าใจดีครับว่าบทความที่เขียน อาจจะดี และไม่ดีในมุมมองของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอขอบคุณในคำชี้แนะครับ และรบกวนคุณ devejo ช่วยโชว์ตัวอย่างของบทความในเรื่อง subnet mask ที่ดีและมีมาตรฐานให้ผมหน่อยนะครับ เพื่อที่ผมจะได้นำมาเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงแก้ไขสำหรับบทความนี้ และบทความอื่นๆ
ขอบคุณอีกครั้งครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 14 ธันวาคม 2557 เวลา:18:20:30 น.  

 
 
 
อธิบายดีมากครับ เข้าใจง่าย ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆครับ : )
 
 

โดย: น้องโชติ IP: 180.183.117.157 วันที่: 15 ธันวาคม 2557 เวลา:14:41:50 น.  

 
 
 
@น้องโชติ
ขอบคุณมากเลยครับ แหม่ อย่างน้อย น้องก็ได้ช่วยย้ำว่า "เรื่องนี้ยังมีประโยชน์กับคนส่วนใหญ่" หลังจากโดนยิงด้วยเมนต์ก่อนหน้า
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 15 ธันวาคม 2557 เวลา:17:43:57 น.  

 
 
 
Devejo เขาคือไผคับมาเม้นซะแรงเลย เก่งแล้วไม่มาเรียนหรอกคับท่านเทพDevejo เหนด้วยกับอ.โก้คับเอาวิธีของเทพอย่างท่านมาให้เรียนรู้ด้วยสิคับจะขอบใจหลายๆเด้อ
 
 

โดย: อาคม IP: 192.99.14.34 วันที่: 15 ธันวาคม 2557 เวลา:22:07:27 น.  

 
 
 
การสอนมีหลายรูปแบบนะครับ อยู่ที่ใครจะเลือกไปเรียนแบบไหน? สำหรับผมผมรับได้ทุกรูปแบบแหละ ถ้าใจผมอยากเรียนรู้ บทควาทที่พี่โก้เขียนนั้น ผมมองว่าเป็นหนังสือเล่มนึงที่ผมอยากอ่านครับ ตอมผมจะสอบเอ็นทรานซ์ผมก็อ่านหนังสือนะครับ ให้หนังสือมันสอนผม หนังสือที่มันสอนผมจนรู้เรื่อง ผมจะรักหนังสือเล่มนั้นมาก ใครไม่ชอบ ผมชอบครับ จบนะ
 
 

โดย: Bannatle IP: 115.87.204.242 วันที่: 7 มกราคม 2558 เวลา:15:54:23 น.  

 
 
 
@น้อง Bannatle และ อาคม
ผมขอขอบคุณในกำลังใจครับ แอบแวบไปแป๊ปว่าเราทำอะไรผิดหรือ หรือว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ดี แต่พอสติกลับมา พร้อมกับเสียงตอบรับจากคนส่วนใหญ่ ผมนี้ซึ่งเลย และมีกำลังใจลุยต่อไป เพื่อพี่น้องในสังคมของเราครับ
ขอบคุณอีกครั้งครับ
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 8 มกราคม 2558 เวลา:17:29:44 น.  

 
 
 
ถามหน่อยครับ
ค่า IP ของ PC 2 เครื่องด้านล่างเป็น วงเดียวกันหรือไม่ครับ
PC1
IP address : 192.168.1.1
subnet : 255.255.255.0
PC2
IP address : 192.168.0.1
subnet : 255.255.255.0
-ถือว่าเป็น IP address class C
 
 

โดย: ติ่ง IP: 171.6.208.235 วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:1:34:06 น.  

 
 
 
@คุณ ติ่ง
จากที่ถามมาคำตอบคือ คนละวง (คนละ subnet) กันครับ
192.168.1.1 255.255.255.0 อยู่ subnet 192.168.1.0
192.168.0.1 255.255.255.0 อยู่ subnet 192.168.0.0

ถ้าต้องการทราบว่ามาได้อย่างไร ให้อ่านบทความเกี่ยวกับ "พื้นฐานเครือข่าย computer" ที่ผมได้เขียนไว้ทั้งหมด 7 ตอนดูนะครับ โดยให้อ่านตั้งแต่ตอนแรกๆ ไล่มาเรื่อยๆ ตาม link นี้ครับ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=likecisco&group=1

โก้-ชัยวัฒน์
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:17:58:28 น.  

 
 
 
ภาค 5 เหมือนไล่ล่าโจรผู้ร้ายหาหลักฐานสำคัญ ซึ่งจะพลาดไม่ได้เลย
 
 

โดย: Ironman IP: 58.10.22.106 วันที่: 3 เมษายน 2558 เวลา:14:44:24 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากครับ ได้ความรู้เพียบเลย
ติดตามผลงานต่อไปครับ ^^
 
 

โดย: pongpan IP: 110.78.145.152 วันที่: 1 ตุลาคม 2558 เวลา:12:05:47 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรู้ อยากทรายว่าตอนนี้มี IPv4 กับ IPv6 ทำไมเราเลือกใช้ IPv4 คะ
 
 

โดย: Parin IP: 119.46.175.66 วันที่: 27 เมษายน 2559 เวลา:9:59:11 น.  

 
 
 
@Parin,
เหตุผลแรกเลย คือ IPv4 มีใช้มานานแล้ว และคนก็คุ้นเคยกว่า เพราะ IPv6 จะมีความแตกต่างในการใช้งานจาก IPv4 อยู่บ้าง

สอง ก็คือ IPv6 ไม่สามารถใช้งานร่วมกับ IPv4 ได้ ดังนั้น หากจะใช้ IPv6 ต้องพร้อมใจกันใช้ทั่วโลกซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าใครไปใช้ IPv6 ก่อน ก็เหมือนนไปรออยู่บน เกาะ IPv6 ที่ขาดการติดต่อกับโลกของ IPv4

แต่ปัจจุบัน มีหลักการที่เรียกว่า Ddual stack ipv6 and ipv4 ซึ่งจะมาช่วยให้ IPv4 และ IPv6 ใช้งานคู่ขนานกันไปได้ (เน้นว่าคู่ขนาน เหมือนโลก สองโลกที่ไปด้วยกันครับ)

และปัจจะบัน Web site ใหญ่ อย่าง google และ facebook ก็มีการ implement IPv6 ไว้บนเครื่อง server เพื่อลองรับแล้ว น้องลองใช้ command "nslookup //www.google.com" น้องก็จะเห็นว่า web ของ google รองรับ IPv6 แล้ว

แต่ทว่า ก็ไม่ได้ทุกๆ web จะรองรับ IPv6 ดังนั้น คนจึงนิยม หรือยึดติดกับการใช้ IPv4 ครับ

พี่โก้
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 3 พฤษภาคม 2559 เวลา:23:31:39 น.  

 
 
 
ผมชอบเวลาพี่เขียนอธิบายมากเลยครับ พี่เขียนละเอียด & ยกตัวอย่างให้ดูหลายๆ ข้อ เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น

Thx มั่กๆๆๆๆๆๆ ครับ
 
 

โดย: Big IP: 49.229.191.44 วันที่: 3 กันยายน 2559 เวลา:14:13:06 น.  

 
 
 
ipผมตั้ง10.10.89.8
subnet ผมตั้งผิดเป็255.255.255.254 ที่จริงเเล้วต้องเป็น(255.255.255.224)
ตอนนี้เข้าดูอุปกรณ์ไม่ได้ครับ คอมไม่ยอมให้ตั้งsubnetเป็น255.255.255.254ครับ
ทำยังไงดีครับ รบกวนอาจารย์ผู้รู้ช่วยเเนะนำด้วยครับ
 
 

โดย: ก้องกิจ IP: 1.46.96.218 วันที่: 29 ตุลาคม 2560 เวลา:22:11:17 น.  

 
 
 
@คุณก้องกิจ
ต้องขออภัยที่เพิ่งตอบนะครับ งานยุ่งมากๆ จริงๆ ครับ

การตั้ง subnet mask 255.255.255.254 จะถูกอนุญาติให้ทำได้เฉพาะอุปกรณ์ที่เป็นพวก routing device เช่น router และ Layer 3 switch ตาม RFC3021
https://tools.ietf.org/rfc/rfc3021.txt

สำหรับวิธีแก้:
วิธีที่1: แก้ config ให้ถูกต้องผ่านสาย console แต่หาก router อยู่คนละกับเรา และไม่สามารถใช้งานผ่านสาย console ได้แล้ว ให้ไปดูวิธีที่ 2

วิธีที่2: Telnet เข้า router ผ่านทางอื่น ด้วย IP address เบอร์อื่น แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ หรือไม่มีทางแล้ว ให้ไปดูวิธีที่ 3

วิธีที่3: ในกรณีที่อุปกรณ์ยังไม่ได้รับ save config วิธีที่ง่ายที่สุด คือการ reboot อุปกรณ์ให้มันกลับไปใช้ config ก่อนหน้าที่เราจะ config ผิด (ในกรณีนี้คือ ใส่ subnet mask ผิดคือ 255.255.255.254) แต่สิ่งที่ต้องทราบ และระวังคือ
- Config เก่า มันเป็น config ล่าสุดหรือเปล่า?
- การ reboot จะกระทบกับการใช้งาน ดังนั้นต้องแน่ใจว่า reboot ได้เลยไหม หรือต้องทำช่วงกลางดึก
Note: การ reboot ก็คือ ให้คนที่อยู่ใกล้ๆ router ช่วย reboot ให้ แต่ถ้าสื่อสารไม่ดี เค้า reboot ผิดตัว ก็งานเข้า!!!!
สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาให้ดีนะครับ หากไม่แน่ใจ แนะนำวิธีที่ 4 ครับ

ไม่รู้ว่าคำแนะนำนี้จะทันไหม แต่หก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับท่านอื่นๆ ด้วยนะครับ

โก้-ชัยวัฒน์
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 12 พฤศจิกายน 2560 เวลา:11:55:32 น.  

 
 
 
สงสัยมานานเรื่อง /Prefix Length มานาน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มานั่งอ่านบทความนี้กระจ่างเลยครับ จากคนที่ไม่มีความรู้มาก่อน

ขอบคุณมากครับอาจารย์
 
 

โดย: Anothai IP: 223.24.67.191 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:14:22:50 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ เสียดายเจอกันช้าไป ไม่อย่างนั้นผมคงจะทำระบบเนตเวิคในน้านเป็นนานแล้ว 😅 อยากให้อธิบายเรื่อง แนวคิดของการทำงานของ เราเตอร์ สวิทช์ ฮับ การแจกip การชนกันของip การทำbridge mode forward port ครับจะได้เซตค่าเราเตอร์ได้เป็น
 
 

โดย: tintin IP: 223.24.115.61 วันที่: 7 มีนาคม 2561 เวลา:2:21:31 น.  

 
 
 
@K. tintin;

ลองดู VDO ตาม link สอง link นี้นะครับ เชื่อว่าจะทำตอบโจทย์ได้ในระดับนึงเลยครับ

Clip การสอน Pre-CCNA:
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=likecisco&date=04-06-2016&group=11&gblog=1

Clip การสอนระบบ Network:
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=likecisco&date=31-05-2014&group=8&gblog=3

ปล. จะพบายามหาเวลามาสร้างสรรผลงานให้เรื่อยๆ ครับ

ขอบคุณครับ
โก้-ชัยวัฒน์
 
 

โดย: kochaiwat วันที่: 7 มีนาคม 2561 เวลา:15:12:08 น.  

 
 
 
ขอบคุณบทความดีๆครับอาจารย์
 
 

โดย: Apiwat IP: 159.192.219.169 วันที่: 10 กรกฎาคม 2562 เวลา:12:00:22 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากๆครับ เขียนดี อธิบายเข้าใจชัดเจนมากๆครับ ขออีกนะครับ ขอบคุณครับ🙏🙏
 
 

โดย: J IP: 49.196.19.254 วันที่: 24 พฤษภาคม 2565 เวลา:12:42:27 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

kochaiwat
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 693 คน [?]




เริ่มงานครั้งแรกที่บริษัท UIH (United Information Highway) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการทางด้านการสื่อสารข้อมูล อาทิเช่น Lease Line, Frame Relay และ MPLS และได้ย้ายไปร่วมงานกับบริษัท dtac โดยได้ทำงานเกี่ยวกับ IP Network (Switch/Router/Firewall/F5-Loadbalancer) รวมถึง MPLS Network และ IPRAN (IP Radio Access Network) ซึ่งเป็น IP Network ที่รองรับ Access ของ Mobile System นอกจากนั้นยังสนใจศึกษาเรื่อง IPv6 Address ที่จะมาใช้แทน IPv4 ที่เราใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
แต่ด้วยความชอบในการแบ่งปันความรู้ จึงได้มีโอกาสสอน CCNA อยู่ที่สถาบันแห่งหนึ่งในอาคารฟอร์จูนทาวน์ในวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึง พ.ศ. 2553 รวมเป็นเวลา 4 ปี, หลังจากนั้นในระหว่างที่ทำงานที่ dtac ก็ได้สอนเสาร์-อาทิตย์เรื่อยมา

เคยเป็น Trainer หรือ Instructor อย่างเต็มตัว สอนวิชาต่างๆ ของ Cisco อย่างเป็นทางการ (Authorize Training) ที่บริษัท Training Partner Thailand จนถึง มีนาคม 2014 และได้ตัดสินใจออกมาสอนเอง เพราะด้วยความรักในอาชีพการสอน และต้องการที่จะแบ่งปันความรู้ให้กับบุคคลในระดับกลางและล่างเพื่อส่งเสริมให้ได้มีโอกาสได้เรียน และได้มีโอกาสสมัครงาน แต่ด้วยใจรักในบริษัท Cisco ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเข้ามา จึงได้ตัดสินใจหยุดการสอน และได้เข้าไปเป็นพนักงาน หรือทำงานที่บริษัท Cisco Thailand ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 (2016) จนถึงปัจจุบัน

ลูกค้าที่เคยมารับการอบรม เช่น
- Lao Telecom Company Ltd
- CAT Telecom
- TOT
- True
- dtac
- CDG Group
- SITA air transport communications and information technology (www.sita.aero/)
- Infonet Thailand
- MultiLink Co., Ltd
- โรงพยาบาลไทยนครินทร์
- และเคยไปเป็นวิทยากรพิเศษที่ มหาวิทยลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ

ปัจจุบัน โก้-ชัยวัฒน์ ได้ผ่านการสอบ:
- Cisco Certified Internetwork Expert (CCIE) No. 51353 และ
- Cisco Certified Systems Instructor (CCSI) ซึ่งเป็น Certificate ที่ออกให้โดย Cisco สำหรับผู้ที่จะเป็นผู้สอน Cisco Certificate อย่างเป็นทางการ และได้รับ CCSI ID: 34784

วิชาที่สามารถได้สอนได้สำหรับ Cisco Certificate ในขณะนี้คือ
- CCNA Routing & Switching
- CCNA Security (IINS)
- CCNP Route & Switch: ROUTE
- CCNP Route & Switch: SWITCH
- CCNP Route & Switch: TSHOOT
- MPLS (IOS)
- MPLS Traffic Engineering (IOS)
- CCNP Service Provider: SPROUTE (OSPF, IS-IS, BGP, Prefix-List, Route-Map and RPL (Routing Policy Language))
- CCNP Service Provider: SPADVROUTE (Advance BGP, Multicast, and IPv6)
- CCNP Service Provider: SPCORE (MPLS, MPLS-TE, QoS)
- CCNP Service Provider: SPEDGE (MPLS-L3VPN, MPLS-L2VPN (AToM and VPLS)
- IPv6

Certification ที่มีอยู่ในปัจจุบัน CCIE# 51353, CCSI# 34784, CCNA Routing & Switching, CCNA Security (IINS), CCNA Design, CCNP Routing & Switching, CCIP, CCNP Service Provider ซึ่งเป็น Certification ของ Cisco product รวมถึง Certification ของสถาบัน EC-Council (www.eccouncil.org) นั่นคือ Certified Ethical Hacker (CEH)

"เป้าหมายมีไว้ให้ไล่ล่า บ้างเหนื่อยล้าบ้างหยุดพัก
ชีวิตแม้ยากนัก แต่เรารักเราไม่ถอย
ชีวิตแม้ต้องคอย จะไม่ปล่อยไปวันๆ
ชิวิตไม่วายพลัน แม้นสักวันต้องได้ชัย"

"แม้ระยะทางจะไกลแค่ไหน แม้ต้องใช้เวลามากเพียงใด
ขอเพียงแค่มีความตั้งใจ เราต้องได้ไปให้ถึงมัน"

ผมจะไม่ยอมทิ้งฝัน แต่จะไล่ล่ามันให้ถึงที่สุด สักวันฝันอาจจะเป็นจริง ถึงจะไปไม่ถึง แต่ผมก็ภูมิใจที่ได้ทำ
==============================
ความรู้ = เมล็ดพืช
ความพยายามในการเรียนรู้ = ปุ๋ย, น้ำ และความใส่ใจที่จะปลูก
สรุปคือ
ยิ่งพยายามเรียนรู้ ยิ่งพยายามศึกษาในเรื่องใดๆ ผลที่ได้คือ จะได้ความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เปรียบเสมือนปลูกต้นไม้ด้วยความใส่ใจ ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ผลที่ได้ก็คือ ต้นไม้ที่เติบโตอย่างแข็งแรง และผลิดอกและผลที่งดงามให้เราได้ชื่นชม
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จจะอยู่ที่นั่น หรือที่ไหนก็ช่าง แต่เชื่อเถอะ เราจะได้ผลลัพธ์ที่ดีจากความพยายามนั้นๆ ไม่มากก็น้อย
อยากได้อะไรให้พยายาม แล้วความสำเร็จมันจะเข้ามาหาเอง
ผมเชื่อ และมั่นใจอย่างนั้น
===============================
ตอนนี้ผมได้ไปถึงฝัน (CCIE) แล้ว และสิ่งที่ไม่คาดฝัน คือได้ทำงานที่บริษัท Cisco ซึ่งถือได้ว่าไกลเกินฝัน

กว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้ เกิดจากความตั้งใจ มุ่งมั่น และพยายามอย่างไม่ย่อท้อ ศึกษาหาความรู้ และฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ และผมก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ขอเพียงแค่อย่าท้อ อย่าถอย และอย่าหยุด

ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน และขอให้ประสบความสำเร็จดังที่มุ่งหวัง ไม่ว่าท่านจะหวังสิ่งใดก็ตามครับ

ท้ายที่สุด ผมขอฝากข้อคิดในเรื่อง Certificate ไว้สักนิดนะครับ:
*** "CCIE และ Certificate อื่นๆ มีไว้เพื่อทำมาหากิน และมีไว้เพื่อข่มตนไม่ให้เกรียน เพราะความเกรียนจะนำมาซึ่งการเป็นเป้าให้คนที่เค้าหมั่นไส้ยิงเอานะครับ" ***

Facebook: Chaiwat Amornhirunwong
New Comments
[Add kochaiwat's blog to your web]

MY VIP Friends


 
 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com